อาหารเสริม แนะนำ
- By : Pergusto.net
- Category : อาหารเพื่อสุขภาพ

อาหารเสริม แนะนำ
อาหารเสริม แนะนำ อาหารเสริมสุขภาพ จัดเป็น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือ Dietary supplement products ซึ่งหมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานโดยตรง นอกเหนือจากการรับประทานอาหารหลัก ตามปกติมักจะอยู่ในลักษณะเป็นเม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลว หรือลักษณะอื่น มีจุดมุ่งหมายสำหรับบุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพปกติ (มิใช่สำหรับผู้ป่วย) เช่น น้ำมันปลาแคปซูล ใยอาหารอัดเม็ด ใยอาหารผงสำหรับชงหรือโรยอาหาร เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ มีกี่ประเภท
พอจะจัดกลุ่มของอาหารเสริมสุขภาพที่มีจำหน่ายในท้องตลาด หรือ จำหน่ายโดยตรงแก่ผู้ซื้อ โดยแบ่งตามคุณสมบัติ และประสิทธิภาพเด่นๆ ดังนี้
อาหารบำรุงสุขภาพ จะเป็นพวกที่อวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นอาหารบำรุงร่างกาย รับประทานแล้วมีสุขภาพดี ราคาค่อนข้างแพง อาทิเช่น รังนก โสม หูฉลาม ซุปไก่สกัด เป็นต้น
อาหารป้องกันและรักษาโรค ตัวอย่างเช่น น้ำมันดอกอิฟนิ่งพริมโรส (Evening primrose oil) น้ำมันปลา เลซิทิน นมผึ้ง สาหร่ายคลอเรลล่า
อาหารลดน้ำหนัก สำหรัยผู้เป็นโรคอ้วน อาหารประเภทนี้ จะเพิ่มประมาณ บริโภคแล้วอิ่ม ไม่ให้คุณค่าทางอาหาร ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์จากบุก เมล็ดแมงลัก guagum
อาหารเสริมนักกีฬา มีสารอาหารที่ให้พลังงานอย่างรวดเร็ว อย่างเช่น เครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดต่างๆ
ผลิตภัณฑ์ที่เสริม หรือเติมสารอาหาร (fortifiaction) บางชนิดให้มากขึ้น เช่น ใยอาหาร(dietary fiber) แคลเซียม เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้คนบางกลุ่มที่ได้รับสารอาหารบางชนิดไม่เพียงพอต่อ ความต้องการของร่างกาย
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ทำอะไร
นักวิจัยของสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอาหารเสริมสุขภาพ หลายโครงการด้วยกัน พอที่จะแบ่งแยกออกเป็นประเภทได้ ดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์ชนิดใยอาหารสูง
2. ผลิตภัณฑ์ชนิดแคลอรี่ต่ำ
3. ผลิตภัณฑ์ชนิดแคลอรี่สูง
งานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณค่าทางโภชนาการนั้น อาศัยหลักการพื้นฐานในการเติม สารอาหาร(nutrient) ลงในผลิตภัณฑ์อาหาร(Dr.Allan Forbes of the Bureau of Food,FDA) มีหลายวิธีคือ
1) restoration คือการใส่สารอาหาร ซึ่งเดิมมีอยู่ในวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของอาหาร แต่อาจสูบเสียหรือถูกกำจัดออกระหว่างขบวนการผลิต จึงเติมสารอาหารชนิดนั้นลงไปเพื่อ
ปรับปรุงให้ดีขี้น เช่น การเติม dietary fiber ลงไปใน ผลิตภัณฑ์
2) fortification เป็นการเสริมสารอาหารบางตัวอาจจะเป็นวิตามิน เกลือแร่ชนิดต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสารอาหารครบถ้วน RDI (Recommended Daily Intakes)กำหนดไว้
3) เติมสารอาหารลงไปในอาหารเพื่อบุคคลบางกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น อาหารสำหรับคนเป็นโรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน
4) เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการในผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่เลียนแบบจากอาหารดั้งเดิม
ผลิตภัณฑ์แคลอรี่ต่ำ
นี่ก็เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ อีกชนิดหนึ่ง ที่นักวิจัยได้ทำการศึกษา โดยทำเป็นอาหารว่าง พลังงานต่ำ จากข้าวกล้อง โดยใช้เครื่อง เอ็กซ์ทรูเดอร์ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ก็จะเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับ ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักแต่ก็ยังชอบที่จะเคี้ยวขนมในปากตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาน้ำปลาหวานสูตรลดแคลอรี่(ต่ำกว่า มาตรฐาน ร้อยละ 30 ) เพื่อสนองความต้องการของผู้ที่ชอบกินมะม่วงน้ำปลาหวานแต่กลัวอ้วน โดยใช้น้ำตาลที่ให้พลังงานต่ำ เช่น sorbitol (ให้พลังงาน 1 ใน 3 ของร่างกาย) high fructose corn syrup (HFC) ที่มีความหวานมากกว่า sucrose 1.2 เท่า และ Xantan gum เป็นส่วนผสมที่เพิ่มความเหนียวให้แก่ผลิตภัณฑ์
อาหาร High Calcium
ผลิตภัณฑ์ ชนิดใดที่เสริม เติม เพิ่ม แคลเซียมลงไป ดูจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นั่นเป็นเพราะว่า โรคกระดูกผุ กระดูกกร่อน กระดูกพรุน มาเยือนประชากรของประเทศก่อนที่จะถึงวัยอันควร สาเหตุสำคัญคงเป็นเพราะขาดการออกกำลังกาย และบริโภคแคลเซียมน้อยกว่าปริมาณขั้นต่ำที่กำหนดไว้ สิ่งนี้เป็นเหตุช่วยส่งเสริมให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้คนส่วนใหญ่ จึงพยายามซื้อหาแคลเซียมหรืออาหารเสริมแคลเซียมในรูปแบบต่างๆมารับประทาน
ด้วยเหตุนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป (Food bar) ชนิดแคลเซียมสูง จึงได้ถูกผลิตขึ้น เพื่อให้เหมาะกับผู้บริโภคยุคเร่งรีบ โดยพัฒนาให้เป็นลักษณะ Food bar ที่มีรสชาติคุ้นลิ้นคนไทย อย่างเช่น ข้าวผัด ผัดกะเพรา เป็นต้น โดยข้อเท็จจริงแล้ว หากเราบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ปลาตัวเล็ก ผักใบเขียว งา ฯลฯ เป็นประจำแล้ว อาหารเสริมแคลเซียมก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่หากจะซื้อหามาบริโภค ก็ควรจะมีความรู้ ความเข้าใจก่อนว่า บางครั้งผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมที่โฆษณาอวดอ้าง แคลเซียมสูงนั้น เป็นแคลเซียมชนิดไหน เพราะแคลเซียมในแต่ละรูปแบบ จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายไม่เท่ากัน พบว่า calcium bioavailability ของ calcium lactate เท่ากับ 86% ,calcium gluconate 77%,calcium citrate 80%,calcium phosphate 56% และ calcium carbonate 76 % ดังนั้น จะซื้อหาแคลเซียมชนิดใดมารับประทานก็ควรจะดูให้ถ่องแท้ มิใช่เพียงแต่สรรพคุณที่โฆษณา
คุณและโทษของอาหารเสริม
ปัจจุบันนี้พบว่ามีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมบำรุงร่างกายออกวางจำหน่ายมากมาย อันจะพบได้ตามสื่อโฆษณาต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งบางผลิตภัณฑ์มีการโฆษณาสรรพคุณเกินจริง เช่น ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักและเสริมความงาม เมื่อใช้แล้วจะเห็นผลภายใน 1 สัปดาห์ หรืออาหารเสริมบำรุงสมอง เมื่อทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะทำให้สมองมีความจำดี เป็นต้น และพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแต่ละชนิดมีราคาแพงมากและประโยชน์ที่ได้จากอาหารเสริมเหล่านี้ก็ยังไม่ชัดเจน มีมากหรือน้อยเพียงไร ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรพิจารณาถึงคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นด้วย
ประโยชน์ของอาหารเสริมมีอยู่ 3 ประการ
1. ช่วยให้ร่างกายได้รับโภชนาการที่เหมาะสม เนื่องจากทุกคนมีความต้องการที่เหมือนกัน คือ สุขภาพสมบูรณ์ปราศจากโรคภัย จึงมีการคิดค้นอาหารเสริมเพื่อช่วยเพิ่มในส่วนที่ร่างกายขาดไป
2. จะมีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เพราะอาหารเสริมจะเข้าไปเสริมในส่วนที่ร่างกายขาดได้ครบถ้วนเต็มที่
3. สามารถช่วยบรรเทาหรือรักษาโรคบางชนิดแทนยาแผนปัจจุบันได้ เช่น น้ำว่านหางจระเข้รักษาอาการโรคกระเพาะ น้ำมันตับปลาค็อด (cod liver oil) ช่วยบรรเทาอาการโรคไขข้ออักเสบ เป็นต้น นากจากนี้ยังพบว่ามีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน
ข้อเสียของอาหารเสริม
การกินอาหารเสริมมากเกินไป บางครั้งพบว่าทำให้เกิดโทษแก่ร่างกายและสูญเสียเงินโดยไม่จำเป็น ซึ่งมีรายงานการวิจัยพบว่า การรับประทานอาหารเสริมมากเกินไป อาจมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ อุจจาระเป็นสีดำ ท้องผูก ท้องเสีย มีกลิ่นตัว และเหงื่อออกมาก
ตัวอย่างของผลข้างเคียงของอาหารเสริม
– อาหารเสริมประเภทซุปไก่สกัด มีคุณค่าเท่ากับไข่ไก่ฟองเดียว
– สาหร่ายสไปรูไลน่า จะมีปริมาณกรดนิวคลิอิกสูง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกาต์
– รังนกที่ยังไม่เคยมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เลยว่ากินแล้วผิวพรรณอ่อนกว่าวัย แต่มีผลข้างเคียงต่อผู้ที่เป็นลมชัก
– น้ำมันตับปลา ทำให้เกิดเลือดกำเดาไหลไม่หยุด อาจทำให้เกิดสภาวะขาดวิตามินอี และเสี่ยงต่อสารพิษด้วย
– ผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน ซึ่งขณะนี้นักวิชาการพบว่ามีผลข้างเคียงต่อการเป็นมะเร็ง
ถ้าจำเป็นต้องทานอาหารเสริมและให้คุณค่าต่อสุขภาพอย่างแท้จริง ควรศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนบริโภค ควรเลือกให้เหมาะสมกับอายุและสภาพร่างกาย สภาพการดำเนินชีวิต สำหรับผู้ที่กินยาเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์ก่อน ส่วนสตรีที่มีครรภ์ก็ควรทานอาหารเสริมจำพวกวิตามินหรือกรดโฟลิกเท่านั้น แต่ขอแนะนำว่าถ้าท่านรับประทานอาหารให้ถูกต้องและครบ 5 หมู่แล้ว อาหารเสริมก็คงไม่จำเป็นอีกต่อไป แถมยังประหยัดค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นอีกด้วย แต่สำหรับผู้ที่ทำงานหนักหรือสุขภาพไม่แข็งแรงต้องการทานอาหารเสริมเพื่อบำรุงร่างกายก็ไม่ว่ากัน